Public Archaeology
เมื่อกล่าวถึงโบราณคดี คนทั่วไปมักจะรู้สึกปะปนกัน บ้างก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ใกล้-ไกลตัว บ้างก็บอกว่ายาก บ้างก็ว่าเป็นเรื่องลี้ลับ ดังนั้นความเข้าใจของคนจะแตกต่างกันตามพื้นฐานและประสบการณ์ หากเราดูในท้องตลาดทั่วไป ความรู้เกี่ยวกับโบราณคดีนั้นมีสำนักพิมพ์ที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ในฐานะมรดกวัฒนธรรม คือสำนักพิมพ์มติชนและเมืองโบราณ ที่เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโบราณคดีสู่สาธารณชน ในรูปแบบของนิตยสารเมืองโบราณ ศิลปวัฒนธรรม และหนังสือหัวข้อต่างๆ อย่างไรก็ดี กระบวนการตีพิมพ์หนังสือนั้นใช้เวลาพอสมควรกว่าจะตีความบทความออกมา ดังนั้นเราจึงคิดว่าควรจะมีสื่อกลางที่เร็วและง่ายแก่การ “สื่อ” เพื่อส่ง “สาร” สู่ “สาธารณะ” นั่นคือการจัดทำเว็บไซต์ โดยจะใช้เวลายามว่างจากการสอนหนังสือ การทำวิจัย และการทำกิจกรรมกับนักศึกษามาเขียน เรียบเรียงเรื่องราวจากการ ค้นคว้า การเดินทาง ที่เห็นว่าเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ไม่มากก็น้อย
สำหรับบล็อกนี้จะมีความแตกต่างในเรื่องของรูปแบบ แต่เป้าหมายเดียวกันกับหนังสือ-นิตยสาร คือเพื่อเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นทางการและทางการเกี่ยวกับแวดวงโบราณคดีไทย-เทศ สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป นักศึกษา นักวิชาการ โดยถือว่าเป็นการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในฐานะนักโบราณคดี-นักสืบของอดีต-นักเดินทางของกาลเวลา ที่มองเห็นว่า “ความรู้” ควรจะเป็นเรื่องสาธารณะที่เป็นอาหารสมองที่มีคุณค่า ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาและจิตวิญญาณในเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติทั้งปวง ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังก่อตัวอยู่ขณะนี้ เราจะเป็นคนที่มืดบอดทางปัญญา หากเราไม่รู้จัก “อดีต” เพื่อทำให้เราเข้าใจ “ปัจจุบัน” และ ส่องทางสู่ “อนาคต”
หากผู้อ่านท่านใดสนใจและเห็นประโยชน์ของบล็อกนี้ก็สามารถจะเข้ามาสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ติ-ชม ก็จะยินดียิ่ง
Rasmi Shoocongdej, Ph.D. Professor